วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย

ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน
ประเพณีแข่งเรือยาว
“ความสง่างาม และน่าเกรงขามของหัวเรือพญานาค คือเอกลักษณ์ของเรือยาวจังหวัดน่าน ทีมฝีพายจากทั่วทุกสารทิศต่างช่วงชิงความเป็นหนึ่ง เจ้าเรือพายแห่งสายน้ำน่าน เสียงเชียร์ดังสนั่นท้องน้ำ เสียงนกหวีดบอกสัญญาณ เสียงทุ้มต่ำของกลองเร่งเร้าจังหวะ สร้างความเร้าใจได้ตลอดการแข่งขัน”
สายน้ำน่าน บริเวณสะพานพัฒนาภาคเหนือช่วงฤดูน้ำหลาก เรือพายหัวพญานาคเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครแห่งเมืองน่านหลายสิบลำจากทั่วทุกคุ้มวัดต่างมาพร้อมกันเพื่อชิงชัยเจ้าแห่งสายน้ำน่าน ในงานบุญใหญ่ทอดถวายกฐินพระราชทานที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ที่มาของประเพณีเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
เมื่อเจ้าผู้ครองนครน่านองค์หนึ่ง ระดมสล่านับร้อยลำใหญ่ ๒ ลำ ใช้เวลาสร้างกว่า ๒ ปี เสร็จแล้วมีพิธีบวงสรวงเทพยดาประจำไม้ตะเคียน และบายศรีสู่ขวัญอันเชิญเรือทั้งสองลำลงสู่แม่น้ำน่าน โดยตั้งชื่อเรือลำแรกว่า “เรือท้ายหล้า” และเรืออีกลำชื่อว่า “เรือท้ายทอง” ต่อมาจึงประกาศให้ชาวบ้านใช้เรือทั้งสองลำเป็นแม่แบบในการสร้างเรือ เพื่อนำมาแข่งขัน และกำหนดให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงาน “ตานก๋วยสลาก” (ถวายทานสลากภัต) ของทุกปี
เริ่มต้นความงดงามด้วยริ้วขบวนเรือที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เป็นลวดลายที่งดงาม ก่อขึ้นเป็นรูปร่างของสัญลักษณ์เมืองน่าน วัดภูมินทร์ก็ดี พระธาตุแช่แห้งก็ดี ค่อยๆ เคลื่อนไหลไปตามท้องน้ำผ่านสายตาผู้ชมนับหมื่น ตามด้วยขบวนเรือแข่งกระจายทั่วท้องน้ำ เมื่อทุกทีมพร้อม การจับสายประกบคู่เป็นที่เรียบร้อย เรือแข่งทั้งร่องน้ำซ้าย ร่องน้ำขวา เข้าประจำที่ สัญญาณปล่อยตัวมาพร้อมเสียงเชียร์ เสียงดนตรี และเสียงพากย์สุดเร้าใจ ริมฝั่งแบ่งโซนกองเชียร์ของแต่ละทีมแต่งกายด้วยสีสันสดใส ต่างร้องรำไปตามจังหวะ สอดประสานกับการจ้วงพายของฝีพาย จนเมื่อถึงเส้นชัย ใครจะแพ้ใครจะชนะไม่สำคัญเท่าภาพของความสนุกสนาน ความสามัคคี
การแข่งขันไม่ได้เน้นหนักในด้านการแพ้หรือชนะ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสนุกสนาน ความสามัคคี รอยยิ้มของผู้คน รวมทั้งน้ำใจนักกีฬาที่ต่างมอบให้กันโดยปราศจากผลประโยชน์ใดๆ และเรื่องราวของการแข่งขันเรือยาวจังหวัดน่านนั้น มากไปด้วยมนต์ขลังที่ยังคงเล่าผ่านเรือขุนน่าน ต้นแบบเรือดั้งเดิมที่ขุดจากไม้ตะเคียนทองทั้งต้น ยาว ๑๒ วา ๓ ศอก ทั้งกาบโกลนเรือ และหัว หางนาคราช ตกแต่งลวดลายตลอดรำเรือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นประกาศศักดาคว้าชัยชนะจนได้รับถ้วยพระราชทานจากในหลวงถึง ๓ ปีซ้อน ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ และถ่ายทอดเอกลักษณ์ของเรือยาวแห่งเมืองน่านให้เป็นที่รู้จักสืบไป
– วันเวลาจัดงาน : ช่วงงานตานก๋วยสลาก ประมาณเดือนตุลาคม
- สถานที่จัดงาน : เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ
ประเพณีชักพระหรือลากพระ
เป็นประเพณีของชาวภาคใต้ โดยจะปฏิบัติกันในช่วงออกพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) ซึ่งมีความเชื่อว่า ครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสร็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา พอถึงช่วงออกพรรษา พระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ทำให้ชาวบ้านมีความปราบปลื้มมาก จึงอันเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกและแห่ไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยสมัยพุทธกาลชาวบ้านจึงนำพระพุทธรูปมาแห่สมมุติแทนพระพุทธองค์
ประเพณีชักพระหรือลากพระมีผู้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิของศาสนาพราหมณ์ที่นิยมนำเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่างๆ ต่อมาชาวพุทธได้นำมาดัดแปลงให้ตรงกับศาสนาพุทธ ประเพณีชักพระหรือลากพระได้ถ่ายทอดมาถึงประเทศไทยภาคใต้ได้รับและนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวใต้มีความเชื่อว่าการลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือเป็นการขอฝน เพราะผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม
“การชักพระหรือลากพระของชาวใต้มี ๒ ประเภท คือ ลากพระทางบกกับลากพระทางน้ำ”
การลากพระทางบก คือ การอันเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนนมพระ (คือยานพาหนะที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในการลากพระทางบก) หรือบุษบกแล้วแห่ไปยังจุดหมาย การลากพระทางบกเหมาะกับวัดที่อยู่ห่างไกลแม่น้ำลำคลอง
การลากพระทางน้ำคือ การอันเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ขึ้นประดิษฐานบนเรือพระแล้วแห่ไปยังจุดหมาย การลากพระทางน้ำเหมาะกับวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ
ในวันชักพระหรือลากพระจะมีการตักบาตรหน้าล้อ โดยชาวบ้านจะเตรียมอาหารมาใส่บาตร ซึ่งบาตรนั้นจะเตรียมไว้หน้าพระลาก การตักบาตรหน้านมพระเรียกว่า “บาตรหน้าล้อ” หลังจากตักบาตรเสร็จแล้วจะอันเชิญพระลากประดิษฐานบนบุษบก และเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมต้ม (ขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเหนียวและห่อด้วยใบพ้อ) มาใส่บาตรและแขวนไว้หน้านมพระ และเมื่อมีการลากพระถึงหน้าบ้านใครคนในบ้านนั้นก็จะนำขนมต้มออกมาใส่บาตร
“แต่การลากพระทางน้ำ เรือพายของชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าใกล้เรือพระได้ ชาวบ้านที่ต้องการทำบุญด้วยขนมต้ม จะใช้วิธีปาต้มหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ซัดต้ม” ”
เมื่อเรือพระทุกลำมาถึง ณ จุดหมายแล้ว จะมีการประกวดเรือพระ โดยแยกออกเป็น ๒ ประเภทคือ เรือพระบกและเรือพระน้ำ พอถึงเวลาบ่ายหรือเย็นก็จะลากเรือพระกลับวัด แต่ในปัจจุบันเรือพระจะจอดไว้ประมาณ ๓-๕ วันถึงจะลากกลับวัด เนื่องจากว่ามีประชาชนร่วมกันทำบุญเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการลากพระนิยมทำกันแทบทุกจังหวัดของภาคใต้ แต่การลากพระที่มีชื่อเสียงก็เช่น ที่อำเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นต้น
ประเพณีตักบาตรธูปเทียน  
การถวายธูปเทียนแด่พระสงฆ์ ซึ่งประเพณีตักบาตรธูปเทียนถือเป็นส่วนหนึ่งของการถวายสังฆทานในวันเข้าพรรษา ช่วงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งการตักบาตรธูปเทียนจะมีขึ้นที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชเพียงแห่งเดียว แต่ปรากฏว่าเครื่องสังฆทานที่ชาวบ้านนำมาถวายนั้นมากเกินความจำเป็น จึงได้อาราธนาพระสงฆ์จากวัดต่างๆ มารับเครื่องสังฆทานนั้น
ประเพณีตักบาตรธูปเทียนมีพิธีกรรมโดย นิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นๆ ยืนเรียงแถวที่หน้าวิหาร และชาวบ้านจะนำเครื่องสังฆทานพร้อมทั้งดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมมาใส่ในย่ามพระ เมื่อเสร็จแล้วชาวบ้านจะทำการจุดเปรียง (การจุดเปรียงคือ การนำน้ำมันมะพร้าวใส่ในเปลือกหอยพร้อมด้วยด้ายดิบและจุดไฟที่ด้ายเพื่อให้ไฟสว่างไสวไปทั่วทั้งวัด) ตามหน้าพระพุทธรูปและลานเจดีย์ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
“แต่ปัจจุบันประเพณีตักบาตรธูปเทียนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง เช่น แต่เดิมชาวบ้านจะเตรียมดอกไม้ธูปเทียนมาเอง แต่ปัจจุบันดอกไม้ธูปเทียนจะมีวางขายทั่วไป หรือเมื่อก่อนพระสงฆ์จะเข้าแถวรับบาตรแต่เฉพาะบริเวณหน้าวิหาร แต่ในปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ไปถึงหน้าวัด เมื่อครั้งอดีตหลังจากใส่บาตรเรียบร้อยแล้วจะมีการจุดเปรียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาจุดเทียนไขแทน เพราะการจุดเปรียงทำให้เกิดไปไหม้อยู่บ่อยครั้ง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น